วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การเก็บรักษายา

การแนะนำการเก็บรักษายาบางชนิดที่สำคัญ
การเก็บรักษายาภายใต้สภาวะที่กำหนด
        สภาวะการเก็บยาที่แนะนำมักระบุไว้บนฉลาก โดยอาจกำหนดช่วงอุณหภูมิ หรือสถานที่หรือเงื่อนไขในการเก็บเภสัชภัณฑ์ เช่นเก็บในตู้เย็น” “เก็บที่อุณหภูมิห้องควรปฏิบัติตามคำแนะนำเสริมด้วย เช่นเก็บยาให้พ้นแสง”  ถ้าเภสัชภัณฑ์ที่ต้องเก็บให้พ้นแสงบรรจุในภาชนะใสหรือโปร่งแสงแล้วใส่ในกล่องทึบแสง ผู้ป่วยไม่ควรแกะกล่องทิ้งจนกว่าจะใช้ยาหมดหรือทิ้งยา  ถ้าไม่ระบุสภาวะในการเก็บอย่างเฉพาะเจาะจง  ควรเก็บเภสัชภัณฑ์นั้นในอุณหภูมิห้องที่ควบคุม (controlled room temperature, 20-25 °C) ควรหลีกเลี่ยงเภสัชภัณฑ์จากบริเวณที่ร้อน เย็น หรือมีแสงมากเกินไป หรือมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิมากเกินไป
        ยาที่แบ่งบรรจุควรเก็บในสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมความชื้นและตามอุณหภูมิที่กำหนดในเภสัชตำรับหรือตามฉลาก  ในกรณีที่ไม่ระบุอุณหภูมิและความชื้น ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง (controlled room temperature)  แต่ไม่เกิน 23 °C ที่ความชื้นสัมพัทธ์ไม่มากกว่า 75%  ในตู้เย็นและในช่องแช่แข็งไม่ถือเป็นบริเวณที่ควบคุมความชื้น ถ้ายานั้นถูกกำหนดให้เก็บในที่เย็นจัด (cold temperature) ให้เก็บยาในตู้เย็นหรือช่องแช่แข็งโดยใส่ยาในภาชนะบรรจุชั้นนอก (outer container) ที่เข้ามาตรฐานที่บังคับไว้สำหรับยานั้นๆ
        อุณหภูมิ เภสัชภัณฑ์หลายชนิดต้องเก็บในที่เย็น โดยเฉพาะที่อุณหภูมิต่ำกว่า 15 °C เช่นยาเหน็บที่ต้องหลอมละลายที่อุณหภูมิของร่างกาย ยาเตรียมเหล่านี้อาจเสียได้ถ้าวางไว้ในที่ร้อน  ยาฉีดอินซูลินควรเก็บที่อุณหภูมิ 2 – 8 (หรือ 10) °C คือในตู้เย็นแต่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง
        ยาปฏิชีวนะในรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน  ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันหอมระเหย และครีมบางชนิดต้องเก็บในที่เย็น 
        ยาที่มีไซรับในปริมาณสูงหรือมีปัญหาการละลายควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ
        ความชื้น  ยาในรูปแบบของแข็งควรป้องกันความชื้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ควรบรรจุในภาชนะที่ป้องกันอากาศและความชื้นได้ และควรชี้แจงให้ผู้ป่วยปิดฝาหลังจากใช้ยา  ยาผงที่แบ่งบรรจุในกล่อง/ห่อกระดาษควรเก็บในที่แห้ง
        แสง  ขวดสีชาใช้ป้องกันผลิตภัณฑ์ที่ไวต่อแสง การใส่กล่องช่วยเพิ่มการป้องกันแสงได้  สารบางชนิดเช่น paraldehyde ต้องเก็บในที่มืดสนิท ภาชนะบรรจุไม่ควรสัมผัสแสงอาทิตย์โดยตรงแม้จะเป็นภาชนะป้องกันแสงก็ตาม
        การติดไฟ  ผลิตภัณฑ์ที่มีตัวทำละลายอินทรีย์ที่ติดไฟได้ควรมีฉลากติดไฟได้ เก็บให้ห่างจากเปลวไฟ”  ตัวอย่าง ยาเตรียม Salicylic Acid Lotion BP ที่ใช้กับหนังศีรษะ ควรแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเป่าผมให้แห้งในบริเวณใกล้ไฟหรือเปลวไฟ


Lid clean pad