วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ภาวะตาแห้ง

ภาวะตาแห้ง
ภาวะตาแห้ง
ดวงตาของคนที่สุขภาพดี จะมีน้ำตาเคลือบเป็นฟิล์ม ให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอจึงรู้สึกสบายตาแต่อาจเกิดภาวะตาแห้งได้เนื่องจากสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้
  1. สภาวะแวดล้อมแห้งมากหรือมีลมพัดเข้าตา
  2. ทำงานกับคอมพิวเตอร์หรือ อ่านหนังสือนานๆ จะกระพริบตาน้อยลงทำให้น้ำตาที่เคลือบเป็นฟิล์มลดลง
  3. ผู้ที่ใช้คอนแท็คเลนส์นานๆ จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองตาเพราะตาแห้งได้
  4. ผู้สูงอายุมักจะประสบปัญหานี้ค่อนข้างมากเนื่องจากมีการผลิตน้ำตาน้อยลง
  5. การกินยาบางชนิดทำให้ผลิตน้ำตาลดลง
หากต่อมน้ำตาผลิตน้ำตาน้อยลง จะทำให้น้ำตาไม่สามารถจับตัวเป็นฟิล์มเคลือบตาได้สม่ำเสมอตามปกติหรือหากฟิล์มน้ำตาขาดช่วงจะทำให้เกิดเป็นจุดแห้งของตาทำให้มีการระคายเคืองตา และการมองเห็นเลวลง

ภาวะตาแห้งมีอาการต่างๆ ดังนี้
  1. แสบตา เคืองตา คันตา
  2. รู้สึกคล้ายมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา
  3. มีอาการตาพร่าเป็นพักๆ
  4. ระคายเคืองตามาก เมื่อถูกลม หรือควันต่างๆ
  5. รู้สึกตาล้า หลังใช้คอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือได้ไม่นาน
  6. สวมคอนแท็คเลนส์ตาลำบาก มักมีโรคติดเชื้อที่หนังตาบ่อย
  7. อาจมีน้ำตาไหลมาก เนื่องจากมีจุดแห้งบนกระจกตาจึงมี รีเฟล็กซ์ไปกระตุ้นต่อมน้ำตาให้ผลิตและหลั่งน้ำตาออกมา
หลักการรักษา

ภาวะตาแห้งขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ หลักการรักษาจึงเป็นการทำให้ดวงตาชุ่มชื้นอยู่เสมอ ซึ่งทำได้โดย
  1. การให้น้ำตาเทียมโดยเลือกชนิดให้เหมาะสมกับความรุนแรง
  2. การปิดช่องทางไหลของน้ำตา
ผู้ที่มีอาการตาแห้งไม่รุนแรงมักจะมีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับการหยอดน้ำตาเทียม แต่น้ำตาเทียมชนิดยาน้ำใสจะมีฤทธิ์อยู่ได้ไม่นานนักจึงจำเป็นต้องหยอดน้ำตาเทียมบ่อยๆในผู้ป่วยบางราย จนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดผลเสีย หรือแพ้สารกันเสียที่ใส่ในน้ำตาเทียมได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความไวเกินต่อสารกันเสียบางชนิด ดังนั้นจึงมีการทำน้ำตาเทียมบางชนิดที่ไม่มีสารกันเสียหรือชนิดที่สารกันเสียหรือชนิดที่สารกันเสียสลายตัวได้ และน้ำตาเทียมที่มีความหนืดเหมาะสมช่วยให้น้ำระเหยช้าลงทำให้ดวงตาชุ่มชื้นได้นานขึ้น

การเลือกน้ำตาเทียม
น้ำตาเทียมมีให้เลือกใช้มากมายหลายรูปแบบ มีทั้งยาน้ำใส น้ำขุ่น ขี้ผึ้ง เจล ซึ่งมีส่วนประกอบต่างๆกัน ส่วนประกอบที่สำคัญของน้ำตาเทียม ได้แก่ สารเพิ่มความหนืด สารปรับความเป็น กรด ด่าง สารไฮโดรเจลที่มีคุณสมบัติพองตัวในน้ำ และเก็บความชุ่มชื้นไว้ในตัวได้
การเลือกชนิด และรูปแบบของน้ำตาเทียมขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการตาแห้งเป็นอันดับแรก กรณีที่ตาแห้งไม่มากใช้น้ำตาเทียมชนิดน้ำตาใสแบบบรรจุขวดใช้ได้หลายครั้ง ชนิดใดก็ได้ที่หยอดแล้วสบายตา แต่หากมีอาการตาแห้งมาก จำเป็นต้องหยอดตาบ่อยๆ ควรเลือกใช้น้ำยาใสชนิดไม่มีสารกันเสียเพราะการหยอดน้ำตาเทียมบ่อยๆ อาจทำให้แพ้หรือเกิดผลเสียจากสารกันเสียได้ทำให้ระคายเคืองตามากขึ้น คล้ายอาการตาแห้งรุนแรง

หากใช้ยาหยอดตาเพื่อรักษาโรคอื่นอยู่แล้ว เช่น ยาหยอดตารักษาต้อหิน ควรเลือกใช้น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย


วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การเก็บรักษายา

การแนะนำการเก็บรักษายาบางชนิดที่สำคัญ
การเก็บรักษายาภายใต้สภาวะที่กำหนด
        สภาวะการเก็บยาที่แนะนำมักระบุไว้บนฉลาก โดยอาจกำหนดช่วงอุณหภูมิ หรือสถานที่หรือเงื่อนไขในการเก็บเภสัชภัณฑ์ เช่นเก็บในตู้เย็น” “เก็บที่อุณหภูมิห้องควรปฏิบัติตามคำแนะนำเสริมด้วย เช่นเก็บยาให้พ้นแสง”  ถ้าเภสัชภัณฑ์ที่ต้องเก็บให้พ้นแสงบรรจุในภาชนะใสหรือโปร่งแสงแล้วใส่ในกล่องทึบแสง ผู้ป่วยไม่ควรแกะกล่องทิ้งจนกว่าจะใช้ยาหมดหรือทิ้งยา  ถ้าไม่ระบุสภาวะในการเก็บอย่างเฉพาะเจาะจง  ควรเก็บเภสัชภัณฑ์นั้นในอุณหภูมิห้องที่ควบคุม (controlled room temperature, 20-25 °C) ควรหลีกเลี่ยงเภสัชภัณฑ์จากบริเวณที่ร้อน เย็น หรือมีแสงมากเกินไป หรือมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิมากเกินไป
        ยาที่แบ่งบรรจุควรเก็บในสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมความชื้นและตามอุณหภูมิที่กำหนดในเภสัชตำรับหรือตามฉลาก  ในกรณีที่ไม่ระบุอุณหภูมิและความชื้น ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง (controlled room temperature)  แต่ไม่เกิน 23 °C ที่ความชื้นสัมพัทธ์ไม่มากกว่า 75%  ในตู้เย็นและในช่องแช่แข็งไม่ถือเป็นบริเวณที่ควบคุมความชื้น ถ้ายานั้นถูกกำหนดให้เก็บในที่เย็นจัด (cold temperature) ให้เก็บยาในตู้เย็นหรือช่องแช่แข็งโดยใส่ยาในภาชนะบรรจุชั้นนอก (outer container) ที่เข้ามาตรฐานที่บังคับไว้สำหรับยานั้นๆ
        อุณหภูมิ เภสัชภัณฑ์หลายชนิดต้องเก็บในที่เย็น โดยเฉพาะที่อุณหภูมิต่ำกว่า 15 °C เช่นยาเหน็บที่ต้องหลอมละลายที่อุณหภูมิของร่างกาย ยาเตรียมเหล่านี้อาจเสียได้ถ้าวางไว้ในที่ร้อน  ยาฉีดอินซูลินควรเก็บที่อุณหภูมิ 2 – 8 (หรือ 10) °C คือในตู้เย็นแต่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง
        ยาปฏิชีวนะในรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน  ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันหอมระเหย และครีมบางชนิดต้องเก็บในที่เย็น 
        ยาที่มีไซรับในปริมาณสูงหรือมีปัญหาการละลายควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ
        ความชื้น  ยาในรูปแบบของแข็งควรป้องกันความชื้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ควรบรรจุในภาชนะที่ป้องกันอากาศและความชื้นได้ และควรชี้แจงให้ผู้ป่วยปิดฝาหลังจากใช้ยา  ยาผงที่แบ่งบรรจุในกล่อง/ห่อกระดาษควรเก็บในที่แห้ง
        แสง  ขวดสีชาใช้ป้องกันผลิตภัณฑ์ที่ไวต่อแสง การใส่กล่องช่วยเพิ่มการป้องกันแสงได้  สารบางชนิดเช่น paraldehyde ต้องเก็บในที่มืดสนิท ภาชนะบรรจุไม่ควรสัมผัสแสงอาทิตย์โดยตรงแม้จะเป็นภาชนะป้องกันแสงก็ตาม
        การติดไฟ  ผลิตภัณฑ์ที่มีตัวทำละลายอินทรีย์ที่ติดไฟได้ควรมีฉลากติดไฟได้ เก็บให้ห่างจากเปลวไฟ”  ตัวอย่าง ยาเตรียม Salicylic Acid Lotion BP ที่ใช้กับหนังศีรษะ ควรแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเป่าผมให้แห้งในบริเวณใกล้ไฟหรือเปลวไฟ


ยาที่เสื่อมคุณภาพ

การตรวจสอบลักษณะของยาที่เสื่อมคุณภาพ  ยาหมดอายุ

สามารถแยกแยะยาที่เสื่อมคุณภาพ  ยาหมดอายุได้จาก

1)     การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ  ได้แก่  การเปลี่ยนแปลงของ สี กลิ่น รส การแตกหัก สึกกร่อน การตกตะกอน
2)  การดูวันหมดอายุ หรือคาดการจากวันที่ผลิต

1) การสังเกตความไม่คงตัวของเภสัชภัณฑ์
        การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่พบได้บ่อยและบ่งบอกความไม่คงสภาพของยามีดังนี้
        เภสัชภัณฑ์ในรูปแบบของแข็ง   เภสัชภัณฑ์ในรูปแบบของแข็งควรเก็บในบริเวณที่มีความชื้นต่ำ ดังนั้นจึงควรเก็บใน tight container  หรือในภาชนะบรรจุจากบริษัทผู้ผลิต สภาพที่มีไอน้ำหรือหยดน้ำหรือยาจับกันเป็นก้อนภายในภาชนะบรรจุแสดงถึงสภาพที่ไม่ดี  ถ้าสังเกตเห็นสารกันความชื้น (desiccant) ภายในภาชนะบรรจุจากบริษัทผู้ผลิตแสดงว่าควรระมัดระวังความชื้นในการเก็บยาและควรบอกผู้ป่วยเมื่อจ่ายยา สารที่เกิดจากการสลายตัวบางชนิด เช่น salicylic acid ที่สลายตัวจาก aspirin สามารถระเหิดและตกผลึกกลับมาเกาะอยู่ตามผนังของภาชนะบรรจุ
        Hard Gelatin Capsules และ Soft Gelatin Capsules  เนื่องจากยาเหล่านี้ได้รับการห่อหุ้มด้วยเปลือกเจละติน การเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของเปลือก เช่นการเปลี่ยนแปลงความยืดหยุ่น ความแข็ง ความนุ่ม ชี้ให้เห็นถึงความไม่คงตัวของผลิตภัณฑ์เปลือกของยาแคปซูลที่เก็บในสภาวะที่ไม่เหมาะสมอาจนิ่มและติดกัน หรือแข็งและแตกแม้มีแรงกดอ่อนๆ 
        Uncoated Tablets  ยาเม็ดที่คงตัวต้องมีขนาด รูปร่าง น้ำหนักและสีเหมือนตอนที่เริ่มผลิต ตลอดอายุของยา นอกจากนี้การแตกกระจายตัวและการละลายต้องไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
        ลักษณะความไม่คงตัวทางกายภาพของยาเม็ดที่ไม่เคลือบ สังเกตได้จากผงยาจำนวนมากหรือเศษเม็ดยาที่แตกหักออกมาจากเม็ดยาที่ก้นภาชนะ รอยร้าวหรือรอยบิ่นที่ผิวเม็ดยา เม็ดยาบวม  รอยด่างที่เม็ดยา เม็ดยาเปลี่ยนสี เม็ดยาเกาะติดกัน หรือผลึกที่เม็ดยาหรือที่ผนังของภาชนะบรรจุ
        Coated Tablets ลักษณะที่ไม่คงตัวทางกายภาพคือ รอยร้าว รอยด่าง ที่เม็ดยา สารที่ใช้เคลือบเหนียว และเม็ดยาเกาะกันเป็นก้อน     
        Dry Powders and Granules  ผงยาและแกรนนูล  อาจเกาะกันเป็นก้อนแข็งหรือเปลี่ยนสี ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับ
        Powders and Granules ที่ต้องผสมน้ำให้อยู่ในรูปของสารละลายหรือยาน้ำแขวนตะกอนก่อนใช้  เภสัชภัณฑ์ในกลุ่มนี้มักเป็นยาปฏิชีวนะหรือวิตามินที่ไวต่อความชื้นเป็นพิเศษ  เนื่องจากยาเหล่านี้จ่ายในภาชนะที่มาจากบริษัทผู้ผลิต จึงมักไม่มีปัญหาการปนเปื้อนของความชื้น  อย่างไรก็ตาม ควรใช้วิจารณญาณในการพิจารณาลักษณะจับกันเป็นก้อนแข็งที่ไม่ปกติ และถ้าที่ผนังภาชนะบรรจุมีไอน้ำหรือหยดน้ำก็แสดงว่ายาเตรียมนั้นไม่เหมาะที่จะนำไปใช้อีกต่อไป กลิ่นที่ไม่ดีก็แสดงถึงความไม่คงตัวเช่นกัน
        เนื่องจากสูตรตำรับเหล่านี้เป็นผงแห้งที่ต้องผสมน้ำก่อนใช้ จึงต้องสังเกตสีและกลิ่นของผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปผงแห้งและหลังจากผสมน้ำแล้ว
        Effervescent Tablets, Granules, and Powders  ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไวต่อความชื้นค่อนข้างมาก  สัญญาณที่บ่งบอกความไม่คงตัวคือผงยาบวมหรือการเกิดก๊าซทำให้เกิดแรงดัน แสดงว่าปฏิกิริยาการเกิดฟองฟู่เกิดขึ้นแล้วก่อนจ่ายยา
        เภสัชภัณฑ์ในรูปแบบของเหลว  สิ่งสำคัญสำหรับเภสัชภัณฑ์ในรูปแบบของเหลวคือความสม่ำเสมอของยาและความปราศจากการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ อาจสังเกตความไม่คงตัวจากสารละลายขุ่นหรือตกตะกอน อิมัลชันแยก ยาน้ำแขวนตะกอนไม่สามารถแขวนลอยได้หลังจากเขย่าขวด หรือมีการเปลี่ยนแปลงของกลิ่นและรส  การเจริญของเชื้ออาจเกิดร่วมกับการเปลี่ยนสี การขุ่น หรือการเกิดก๊าซ
        Solutions, Elixirs, และ Syrups ลักษณะที่แสดงถึงความไม่คงตัวหลักๆมี 2 อย่าง คือ การขุ่น และการเจริญของเชื้อหรือการเกิดก๊าซจากปฏิกิริยาเคมี
        ยาน้ำใสที่คงตัวต้องคงความใส สี และกลิ่นเหมือนตอนเริ่มผลิต ตลอดอายุของยา  โดยเฉพาะความใสของตำรับจะเป็นจุดหลักในการทดสอบด้านความคงตัวทางกายภาพของยาน้ำใส
        Emulsions อิมัลชันที่คงตัวต้องมีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอเหมือนตอนเริ่มผลิตด้วยแรงเขย่าปานกลางและสามารถเทออกจากขวดได้ตลอดอายุของยา
        ลักษณะที่ไม่คงตัวของอิมัลชันสังเกตได้จากการแยกชั้นของผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามอิมัลชันยังมีความคงตัวแม้เกิด creaming คือเนื้ออิมัลชันสามารถเข้ากันได้เมื่อเขย่า
        การเก็บอิมัลชันที่ไม่ได้ผ่านการทดสอบการเก็บในตู้เย็น อาจทำให้สารทำอิมัลชันที่เป็นพวกน้ำมันมีค่าการละลายในระบบลดลงและเกิดการตกตะกอน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ตำรับไม่คงตัวได้
        Suspensions   ยาน้ำแขวนตะกอนที่คงตัวต้องมีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอเมื่อเขย่าด้วยแรงปานกลาง และสามารถเทออกจากขวดได้ง่ายตลอดอายุของยา โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงการกระจายของขนาดอนุภาคยา (particle size distribution)  รูปผลึกยา หรือปริมาณยาที่ผู้ป่วยควรได้รับจากขนาดการให้ยาเท่าเดิม
        ลักษณะหลักที่แสดงถึงความไม่คงตัวของยาน้ำแขวนตะกอนคือการเกิด caking ซึ่งเป็นลักษณะที่ผงยาไม่สามารถกลับแขวนลอยได้อีกด้วยแรงเขย่าปานกลาง  ผงยาที่มีขนาดโตขึ้นหลังจากเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ระยะเวลาหนึ่งอาจมีสาเหตุมาจากผลึกยามีขนาดใหญ่ขึ้นและแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเช่นกัน
        Tinctures และ Fluidextracts  เภสัชภัณฑ์รูปแบบเหล่านี้หรือที่มีลักษณะคล้ายๆกันมักมีสีเข้มขึ้นเนื่องจากยาเตรียมมีความเข้มข้นขึ้น ดังนั้นจึงควรตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามีการตกตะกอนหรือไม่
        Sterile Liquids   การคงสภาพปราศเชื้อเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับของเหลวที่ปราศจากเชื้อ  การปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในของเหลวปราศจากเชื้อมักสังเกตไม่ได้ด้วยตาเปล่า อาจตั้งสมมติฐานว่าผลิตภัณฑ์เกิดการปนเปื้อนด้วยเชื้อจากลักษณะหมอกบางๆ การขุ่น การเปลี่ยนสี การเกิดฟิล์มที่ผิวหน้า การเกาะกันของผงยา หรือการเกิดก๊าซ  ลักษณะที่สำคัญที่สุดของสารละลายปราศจากเชื้อที่เป็นยาตาหรือยาฉีดคือความใส  ควรตั้งข้อสงสัยถ้าสังเกตเห็นการผนึกผลิตภัณฑ์ที่ไม่สมบูรณ์
        เภสัชภัณฑ์กึ่งแข็งกึ่งเหลว  ลักษณะที่แสดงถึงความไม่คงตัวหลักของครีม ยาขี้ผึ้ง และยาเหน็บ คือ สี กลิ่น หรือความหนืดที่เปลี่ยนไป
        Creams  โดยทั่วไปครีมคืออิมัลชันที่ประกอบด้วยน้ำและน้ำมัน  สามารถสังเกตความไม่คงตัวของครีมได้จากการแยกของอิมัลชัน การโตของผลึก การหดตัวของเนื้อครีมเนื่องจากการระเหยของน้ำ และการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์
        Ointments  ยาขี้ผึ้งที่คงตัวต้องมีการกระจายตัวของยาอย่างสม่ำเสมอตลอดอายุของยา  ปัญหาความไม่คงตัวหลักของยาขี้ผึ้งคือ การแยกของของเหลวออกมาเยิ้มที่ผิวหน้าของยาเตรียม (bleeding) และมีความข้นหนืด (consistency) เปลี่ยนไป การเกิดเม็ดหยาบๆ ในยาขี้ผึ้งก็เป็นปัญหาความไม่คงตัวทางกายภาพของยาขี้ผึ้งเช่นกัน
        Suppositories  ลักษณะหลักที่บ่งบอกความไม่คงตัวของยาเหน็บคือยาเหน็บที่อ่อนนุ่มเกินไป   ยาเหน็บบางชนิดอาจแห้งและแข็ง หรือเหี่ยวแห้ง  ควรตรวจสอบยาเหน็บแต่ละแท่งอย่างใกล้ชิดถ้าสังเกตเห็นรอยน้ำมันที่กล่องโดยการเปิดฟอยล์ที่หุ้มอยู่ถ้าจำเป็น  ยาเหน็บโดยทั่วไปควรเก็บในตู้เย็น แม้อาจมีข้อยกเว้นในบางกรณี
­2) การดูวันหมดอายุ หรือคาดการจากวันที่ผลิต
        ฉลากของยาสามัญและอาหารเสริมควรบอกวันหมดอายุ ที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย และควรแสดงวันหมดอายุอย่างเด่นชัด เช่นใช้สีที่ต่างจากสีพื้น หรือใช้สีเข้มเน้น
        กรณีที่อาจยกเว้นการแสดงวันหมดอายุของยาและอาหารเสริม คือ เภสัชภัณฑ์หรืออาหารเสริมนั้นบรรจุในภาชนะสำหรับขายโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ ฉลากของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ระบุข้อจำกัดของขนาดรับประทาน และผลิตภัณฑ์นั้นมีความคงตัวไม่น้อยกว่า 3 ปีถ้าเก็บภายใต้สภาวะที่กำหนด
        วันหมดอายุของยา (expiration date) บอกช่วงเวลาที่คาดว่ายาคงสภาพตามที่กำหนดไว้ในเภสัชตำรับถ้าเก็บภายใต้สภาวะที่กำหนด  ดังนั้นวันหมดอายุของยาจึงกำหนดช่วงเวลาในการจ่ายหรือใช้ยา  ถ้าวันหมดอายุของยาระบุไว้ในรูปเดือน/ปีหมายถึงวันสุดท้ายของเดือนที่กำหนด  วันหมดอายุที่กำหนดโดยบริษัทผู้ผลิตนี้ไม่สามารถนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ที่แบ่งบรรจุในภาชนะบรรจุที่แตกต่างไปจากเดิม

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ยารักษาโรคต้อหิน

ยารักษาโรคต้อหิน

ส่วนใหญ่จะเป็นยาหยอดตาโดยอาจใช้ร่วมกับยาเม็ดรับประทาน โดยยาหยอดตาเพื่อลดความดันในลูกตามีมากมายหลายกลุ่ม  แต่ผลที่ต้องการโดยรวมคือ ลดปริมาณของของเหลวในลูกตา หรือเพิ่มการไหลออกของของเหลวในลูกตา ในผู้ป่วยบางรายแพทย์จะสั่งยาพร้อมกันหลายรายการ ผู้ป่วยที่ได้รับยาควรทราบเกี่ยวกับผลจากการใช้ยา และอาการข้างเคียงที่จะได้รับ หากผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงที่เกิดจากยามาก ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาได้ทราบ เพื่อที่จะได้เลือกใช้ยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย        

กลุ่มของยาหยอดตารักษาโรคต้อหิน

แอลฟ่า อดริเนอจิก อโกนิส  
  • ออกฤทธิ์ทั้งลดการสร้างของของเหลวในลูกตา และเพิ่มการไหลออกของของเหลว 
  • ผลข้างเคียง    ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ ตามัว เมื่อยล้า ปากแห้ง ตาแดง
  • ตัวอย่างยา เช่น Brimonidine (Alphagan , Brimonidine)
เบต้า บล็อคเกอร์
  • ออกฤทธิ์โดยลดการสร้างของของเหลวในลูกตา และลดอัตราการไหลของของเหลวที่เข้าไปในลูกตา
  • ผลข้างเคียง  หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจโต ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึมเศร้า เสื่่อมสมรรถภาพทางเพศ เห็นภาพซ้อน มีปัญหาด้านการหายใจในผู้ป่วยหอบหืดและถุงลมโป่งพอง
  • ตัวอย่างยา เช่น Timolol (Timolol , Glauco-oph) Betataxol (Betoptic-s)
คาร์บอนิก แอนไฮเดรส อิฮิบิเตอร์ 
  • มีทั้งที่เป็นยาหยอดตา และยาเม็ดรับประทาน ออกฤทธิ์ลดการสร้างของเหลวในลูกตา
  • ผลข้างเคียง  ผื่นแดง ตาแดง ระคายเคืองตา มองเห็นภาพเบลอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ นิ่วในไต   ท้องไส้ปั่นป่วน การรับรสเปลี่ยนไป น้ำหนักลด
  • ตัวอย่างยา เช่น Dorzolamide (Trusopt), Brizolamide (Azopt), ยาเม็ด Acetazolamide (Diamox)
ยาหดรูม่านตา
  • การหดรูม่านตาจะทำให้ช่วยเพิ่มการไหลออกของของเหลวในลูกตา
  • ผลข้างเคียง ตาแดง ปวดศีรษะ ตาเบลอ ฝ้า มีน้ำลายมาก เหงื่อออกมาก  คลื่นไส้ อาเจียน      ท้องเสีย ปอดบวมน้ำ หัวใจเต้นช้า
  • ตัวอย่างยา เช่น Pilocarpine (Isopto-Carpine)
พลอสตาแกรนดิน อนาล็อค
  • ลดความดันลูกตาโดย เพิ่มการไหลออกของของเหลวในลูกตา
  • ผลข้างเคียง ตาเบลอ ตาแดง ระคายเคืองตา ม่านตาเปลี่ยนสี (ส่วนใหญ่เกิดในคนที่มีตาสีน้ำตาลหรือสีเขียว) ขนตายาวและหนาขึ้น ปวดข้อ อาการเหมือนเป็นไข้
  • ตัวอย่างยา เช่น Latanoprost (Xalatan) , Bimatoprost (Lumigan) , Travoprost (Travatan)
ยาสูตรผสม 
  • คือ ยาหยอดตาที่รวมยาไว้ในขวดเดียวกัน เพิ่อเพิ่มผลการลดความดันลูกตา เพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย  แต่อาการข้างเคียงก็เพิ่มขึ้นด้วย
  • ตัวอย่างยา เช่น Dorzolamide and Timolol (Cosopt) , Latanoprost and Timolol (Xalacom) , Brimonidine and Timolol (Combigan)

Lid clean pad