วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

น้ำตา

น้ำตา 

น้ำตา ประกอบด้วยสารหลายชนิด ได้แก่ น้ำ โปรตีน สารต้านเชื้อแบคทีเรีย ไขมัน อิเล็กโทรไล เซลล์ต่างๆ เป็นต้น สารประกอบเหล่านี้ช่วยให้ดวงตามีผิวเรียบ และมองเห็นได้ชัดเจน โดยจะเคลือบลูกตาเป็น  ชั้น คือ

  1. ชั้นนอกสุด ประกอบด้วยไขมัน  มีหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำตา ซึ่งอยู่ชั้นกลางระเหยเร็วเกินไป 
  2. ชั้นกลาง เป็นน้ำมีเกลือผสมเล็กน้อย ผลิตโดยต่อมน้ำตา น้ำตาชั้นกลางนี้มีปริมาณร้อยละ 90 ของปริมาณน้ำตาทั้งหมด มีหน้าที่ทำความสะอาด และกำจัดสิ่งแปลกปลอม เช่น เมื่อมีผงเข้าตา จะมีการกระตุ้นให้น้ำตาไหลออกมาล้างให้ผงนั้นออกไป ผู้ที่ต่อมน้ำตาผลิตน้ำน้อย น้ำตาชั้นนอกและน้ำตาชั้นในจะสัมผัสกัน ทำให้รู้สึกแสบ และเคืองตาได้
  3. ชั้นใน เป็นสารเมือกเคลือบผิวลูกตา หากสารนี้เคลือบไม่ทั่วตา จะเกิดจุดตาแห้งบริเวณที่ขาดสารเมือกได้ง่าย

หากต่อมน้ำตาผลิตน้ำตาน้อยลง จะทำให้น้ำตาไม่สามารถจับตัวเป็นฟิล์มเคลือบตาได้สม่ำเสมอตามปกติ หรือหากฟิล์มน้ำตาขาดช่วงจะทำให้เกิดเป็นจุดแห้งของตา ทำให้มีอาการระคายเคืองตาได้

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วิสลูป (Vislube)

วิสลูป (Vislube)

ส่วนประกอบ

ใน 1 มิลลิลิตร ประกอบด้วย โซเดียมไฮยาลูโรเนท 1.8 มก. โซเดียมคลอไรด์ โปแตสเซียมคลอไรด์    ไดโซเดียมไฮโดรเจนฟอสเฟต โซเดียมซิเตรท แมกนิเซียมคลอไรด์ แคลเซียมคลอไรด์ และน้ำสำหรับยาฉีด มีสูตรตำรับเป็น Hypotonic และปราศจากสารกันเสีย

ข้อบ่งใช้

ใช้รักษาโรคตาแห้งและแผลที่ผิวกระจกตา สาเหตุเนื่องมาจากอาการหรือโรคบางชนิด  เช่น หลังการผ่าตัดดวงตา ผ่าตัดต้อกระจก ผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ (เลสิก) หรือหลังการใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนประกอบของสารกันเสียเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งการอักเสบของผิวกระจกตา ใช้บรรเทาอาการระคายเคืองอื่นๆ เช่น อาการตาแห้ง แสบตา และอาการเพลียตา อันเนื่องมาจากฝุ่นละออง เขม่าควัน เครื่องปรับอากาศ การนั่งทำงานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์นานๆ และการใช้คอนแทคเลนส์

ขนาดและวิธีใช้

หักฝาจุกออก หยอดตาครั้งละ 1-2 หยดลงในเปลือกตาล่าง ตามความต้องการ หรือตามแพทย์สั่ง ในกรณีที่ใช้คอนแทคเลนส์ ให้หยดลงบนผิวคอนแทคเลนส์ ชนิดแข็งและอ่อน โดยไม่ต้องถอดคอนแทคเลนส์ออก

ข้อห้ามใช้

ห้ามใช้ในผู้ป่วยรายที่แพ้สารที่เป็นส่วนประกอบของน้ำยา

คำเตือนและข้อควรระวัง

ห้ามแตะบริเวณส่วนปลายที่เปิด และห้ามปลายหลอดแตะลูกนัยน์ตา ควรใช้ทันทีเมื่อเปิด และใช้ให้หมดภายในหนึ่งวัน

ขนาดบรรจุ

ขนาดกล่องบรรจุ 20 หลอด หลอดละ 0.3 มล. ราคา 414 บาท 
ขนาดซองบรรจุ 30 หลอด หลอดละ 0.3 มล. ราคา 563 บาท

การเก็บรักษา 
ควรเก็บในอุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส

เป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ 


วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ภาวะตาแห้ง

ภาวะตาแห้ง
ภาวะตาแห้ง
ดวงตาของคนที่สุขภาพดี จะมีน้ำตาเคลือบเป็นฟิล์ม ให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอจึงรู้สึกสบายตาแต่อาจเกิดภาวะตาแห้งได้เนื่องจากสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้
  1. สภาวะแวดล้อมแห้งมากหรือมีลมพัดเข้าตา
  2. ทำงานกับคอมพิวเตอร์หรือ อ่านหนังสือนานๆ จะกระพริบตาน้อยลงทำให้น้ำตาที่เคลือบเป็นฟิล์มลดลง
  3. ผู้ที่ใช้คอนแท็คเลนส์นานๆ จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองตาเพราะตาแห้งได้
  4. ผู้สูงอายุมักจะประสบปัญหานี้ค่อนข้างมากเนื่องจากมีการผลิตน้ำตาน้อยลง
  5. การกินยาบางชนิดทำให้ผลิตน้ำตาลดลง
หากต่อมน้ำตาผลิตน้ำตาน้อยลง จะทำให้น้ำตาไม่สามารถจับตัวเป็นฟิล์มเคลือบตาได้สม่ำเสมอตามปกติหรือหากฟิล์มน้ำตาขาดช่วงจะทำให้เกิดเป็นจุดแห้งของตาทำให้มีการระคายเคืองตา และการมองเห็นเลวลง

ภาวะตาแห้งมีอาการต่างๆ ดังนี้
  1. แสบตา เคืองตา คันตา
  2. รู้สึกคล้ายมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา
  3. มีอาการตาพร่าเป็นพักๆ
  4. ระคายเคืองตามาก เมื่อถูกลม หรือควันต่างๆ
  5. รู้สึกตาล้า หลังใช้คอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือได้ไม่นาน
  6. สวมคอนแท็คเลนส์ตาลำบาก มักมีโรคติดเชื้อที่หนังตาบ่อย
  7. อาจมีน้ำตาไหลมาก เนื่องจากมีจุดแห้งบนกระจกตาจึงมี รีเฟล็กซ์ไปกระตุ้นต่อมน้ำตาให้ผลิตและหลั่งน้ำตาออกมา
หลักการรักษา

ภาวะตาแห้งขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ หลักการรักษาจึงเป็นการทำให้ดวงตาชุ่มชื้นอยู่เสมอ ซึ่งทำได้โดย
  1. การให้น้ำตาเทียมโดยเลือกชนิดให้เหมาะสมกับความรุนแรง
  2. การปิดช่องทางไหลของน้ำตา
ผู้ที่มีอาการตาแห้งไม่รุนแรงมักจะมีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับการหยอดน้ำตาเทียม แต่น้ำตาเทียมชนิดยาน้ำใสจะมีฤทธิ์อยู่ได้ไม่นานนักจึงจำเป็นต้องหยอดน้ำตาเทียมบ่อยๆในผู้ป่วยบางราย จนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดผลเสีย หรือแพ้สารกันเสียที่ใส่ในน้ำตาเทียมได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความไวเกินต่อสารกันเสียบางชนิด ดังนั้นจึงมีการทำน้ำตาเทียมบางชนิดที่ไม่มีสารกันเสียหรือชนิดที่สารกันเสียหรือชนิดที่สารกันเสียสลายตัวได้ และน้ำตาเทียมที่มีความหนืดเหมาะสมช่วยให้น้ำระเหยช้าลงทำให้ดวงตาชุ่มชื้นได้นานขึ้น

การเลือกน้ำตาเทียม
น้ำตาเทียมมีให้เลือกใช้มากมายหลายรูปแบบ มีทั้งยาน้ำใส น้ำขุ่น ขี้ผึ้ง เจล ซึ่งมีส่วนประกอบต่างๆกัน ส่วนประกอบที่สำคัญของน้ำตาเทียม ได้แก่ สารเพิ่มความหนืด สารปรับความเป็น กรด ด่าง สารไฮโดรเจลที่มีคุณสมบัติพองตัวในน้ำ และเก็บความชุ่มชื้นไว้ในตัวได้
การเลือกชนิด และรูปแบบของน้ำตาเทียมขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการตาแห้งเป็นอันดับแรก กรณีที่ตาแห้งไม่มากใช้น้ำตาเทียมชนิดน้ำตาใสแบบบรรจุขวดใช้ได้หลายครั้ง ชนิดใดก็ได้ที่หยอดแล้วสบายตา แต่หากมีอาการตาแห้งมาก จำเป็นต้องหยอดตาบ่อยๆ ควรเลือกใช้น้ำยาใสชนิดไม่มีสารกันเสียเพราะการหยอดน้ำตาเทียมบ่อยๆ อาจทำให้แพ้หรือเกิดผลเสียจากสารกันเสียได้ทำให้ระคายเคืองตามากขึ้น คล้ายอาการตาแห้งรุนแรง

หากใช้ยาหยอดตาเพื่อรักษาโรคอื่นอยู่แล้ว เช่น ยาหยอดตารักษาต้อหิน ควรเลือกใช้น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย


วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การเก็บรักษายา

การแนะนำการเก็บรักษายาบางชนิดที่สำคัญ
การเก็บรักษายาภายใต้สภาวะที่กำหนด
        สภาวะการเก็บยาที่แนะนำมักระบุไว้บนฉลาก โดยอาจกำหนดช่วงอุณหภูมิ หรือสถานที่หรือเงื่อนไขในการเก็บเภสัชภัณฑ์ เช่นเก็บในตู้เย็น” “เก็บที่อุณหภูมิห้องควรปฏิบัติตามคำแนะนำเสริมด้วย เช่นเก็บยาให้พ้นแสง”  ถ้าเภสัชภัณฑ์ที่ต้องเก็บให้พ้นแสงบรรจุในภาชนะใสหรือโปร่งแสงแล้วใส่ในกล่องทึบแสง ผู้ป่วยไม่ควรแกะกล่องทิ้งจนกว่าจะใช้ยาหมดหรือทิ้งยา  ถ้าไม่ระบุสภาวะในการเก็บอย่างเฉพาะเจาะจง  ควรเก็บเภสัชภัณฑ์นั้นในอุณหภูมิห้องที่ควบคุม (controlled room temperature, 20-25 °C) ควรหลีกเลี่ยงเภสัชภัณฑ์จากบริเวณที่ร้อน เย็น หรือมีแสงมากเกินไป หรือมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิมากเกินไป
        ยาที่แบ่งบรรจุควรเก็บในสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมความชื้นและตามอุณหภูมิที่กำหนดในเภสัชตำรับหรือตามฉลาก  ในกรณีที่ไม่ระบุอุณหภูมิและความชื้น ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง (controlled room temperature)  แต่ไม่เกิน 23 °C ที่ความชื้นสัมพัทธ์ไม่มากกว่า 75%  ในตู้เย็นและในช่องแช่แข็งไม่ถือเป็นบริเวณที่ควบคุมความชื้น ถ้ายานั้นถูกกำหนดให้เก็บในที่เย็นจัด (cold temperature) ให้เก็บยาในตู้เย็นหรือช่องแช่แข็งโดยใส่ยาในภาชนะบรรจุชั้นนอก (outer container) ที่เข้ามาตรฐานที่บังคับไว้สำหรับยานั้นๆ
        อุณหภูมิ เภสัชภัณฑ์หลายชนิดต้องเก็บในที่เย็น โดยเฉพาะที่อุณหภูมิต่ำกว่า 15 °C เช่นยาเหน็บที่ต้องหลอมละลายที่อุณหภูมิของร่างกาย ยาเตรียมเหล่านี้อาจเสียได้ถ้าวางไว้ในที่ร้อน  ยาฉีดอินซูลินควรเก็บที่อุณหภูมิ 2 – 8 (หรือ 10) °C คือในตู้เย็นแต่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง
        ยาปฏิชีวนะในรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน  ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันหอมระเหย และครีมบางชนิดต้องเก็บในที่เย็น 
        ยาที่มีไซรับในปริมาณสูงหรือมีปัญหาการละลายควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ
        ความชื้น  ยาในรูปแบบของแข็งควรป้องกันความชื้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ควรบรรจุในภาชนะที่ป้องกันอากาศและความชื้นได้ และควรชี้แจงให้ผู้ป่วยปิดฝาหลังจากใช้ยา  ยาผงที่แบ่งบรรจุในกล่อง/ห่อกระดาษควรเก็บในที่แห้ง
        แสง  ขวดสีชาใช้ป้องกันผลิตภัณฑ์ที่ไวต่อแสง การใส่กล่องช่วยเพิ่มการป้องกันแสงได้  สารบางชนิดเช่น paraldehyde ต้องเก็บในที่มืดสนิท ภาชนะบรรจุไม่ควรสัมผัสแสงอาทิตย์โดยตรงแม้จะเป็นภาชนะป้องกันแสงก็ตาม
        การติดไฟ  ผลิตภัณฑ์ที่มีตัวทำละลายอินทรีย์ที่ติดไฟได้ควรมีฉลากติดไฟได้ เก็บให้ห่างจากเปลวไฟ”  ตัวอย่าง ยาเตรียม Salicylic Acid Lotion BP ที่ใช้กับหนังศีรษะ ควรแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเป่าผมให้แห้งในบริเวณใกล้ไฟหรือเปลวไฟ


ยาที่เสื่อมคุณภาพ

การตรวจสอบลักษณะของยาที่เสื่อมคุณภาพ  ยาหมดอายุ

สามารถแยกแยะยาที่เสื่อมคุณภาพ  ยาหมดอายุได้จาก

1)     การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ  ได้แก่  การเปลี่ยนแปลงของ สี กลิ่น รส การแตกหัก สึกกร่อน การตกตะกอน
2)  การดูวันหมดอายุ หรือคาดการจากวันที่ผลิต

1) การสังเกตความไม่คงตัวของเภสัชภัณฑ์
        การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่พบได้บ่อยและบ่งบอกความไม่คงสภาพของยามีดังนี้
        เภสัชภัณฑ์ในรูปแบบของแข็ง   เภสัชภัณฑ์ในรูปแบบของแข็งควรเก็บในบริเวณที่มีความชื้นต่ำ ดังนั้นจึงควรเก็บใน tight container  หรือในภาชนะบรรจุจากบริษัทผู้ผลิต สภาพที่มีไอน้ำหรือหยดน้ำหรือยาจับกันเป็นก้อนภายในภาชนะบรรจุแสดงถึงสภาพที่ไม่ดี  ถ้าสังเกตเห็นสารกันความชื้น (desiccant) ภายในภาชนะบรรจุจากบริษัทผู้ผลิตแสดงว่าควรระมัดระวังความชื้นในการเก็บยาและควรบอกผู้ป่วยเมื่อจ่ายยา สารที่เกิดจากการสลายตัวบางชนิด เช่น salicylic acid ที่สลายตัวจาก aspirin สามารถระเหิดและตกผลึกกลับมาเกาะอยู่ตามผนังของภาชนะบรรจุ
        Hard Gelatin Capsules และ Soft Gelatin Capsules  เนื่องจากยาเหล่านี้ได้รับการห่อหุ้มด้วยเปลือกเจละติน การเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของเปลือก เช่นการเปลี่ยนแปลงความยืดหยุ่น ความแข็ง ความนุ่ม ชี้ให้เห็นถึงความไม่คงตัวของผลิตภัณฑ์เปลือกของยาแคปซูลที่เก็บในสภาวะที่ไม่เหมาะสมอาจนิ่มและติดกัน หรือแข็งและแตกแม้มีแรงกดอ่อนๆ 
        Uncoated Tablets  ยาเม็ดที่คงตัวต้องมีขนาด รูปร่าง น้ำหนักและสีเหมือนตอนที่เริ่มผลิต ตลอดอายุของยา นอกจากนี้การแตกกระจายตัวและการละลายต้องไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
        ลักษณะความไม่คงตัวทางกายภาพของยาเม็ดที่ไม่เคลือบ สังเกตได้จากผงยาจำนวนมากหรือเศษเม็ดยาที่แตกหักออกมาจากเม็ดยาที่ก้นภาชนะ รอยร้าวหรือรอยบิ่นที่ผิวเม็ดยา เม็ดยาบวม  รอยด่างที่เม็ดยา เม็ดยาเปลี่ยนสี เม็ดยาเกาะติดกัน หรือผลึกที่เม็ดยาหรือที่ผนังของภาชนะบรรจุ
        Coated Tablets ลักษณะที่ไม่คงตัวทางกายภาพคือ รอยร้าว รอยด่าง ที่เม็ดยา สารที่ใช้เคลือบเหนียว และเม็ดยาเกาะกันเป็นก้อน     
        Dry Powders and Granules  ผงยาและแกรนนูล  อาจเกาะกันเป็นก้อนแข็งหรือเปลี่ยนสี ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับ
        Powders and Granules ที่ต้องผสมน้ำให้อยู่ในรูปของสารละลายหรือยาน้ำแขวนตะกอนก่อนใช้  เภสัชภัณฑ์ในกลุ่มนี้มักเป็นยาปฏิชีวนะหรือวิตามินที่ไวต่อความชื้นเป็นพิเศษ  เนื่องจากยาเหล่านี้จ่ายในภาชนะที่มาจากบริษัทผู้ผลิต จึงมักไม่มีปัญหาการปนเปื้อนของความชื้น  อย่างไรก็ตาม ควรใช้วิจารณญาณในการพิจารณาลักษณะจับกันเป็นก้อนแข็งที่ไม่ปกติ และถ้าที่ผนังภาชนะบรรจุมีไอน้ำหรือหยดน้ำก็แสดงว่ายาเตรียมนั้นไม่เหมาะที่จะนำไปใช้อีกต่อไป กลิ่นที่ไม่ดีก็แสดงถึงความไม่คงตัวเช่นกัน
        เนื่องจากสูตรตำรับเหล่านี้เป็นผงแห้งที่ต้องผสมน้ำก่อนใช้ จึงต้องสังเกตสีและกลิ่นของผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปผงแห้งและหลังจากผสมน้ำแล้ว
        Effervescent Tablets, Granules, and Powders  ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไวต่อความชื้นค่อนข้างมาก  สัญญาณที่บ่งบอกความไม่คงตัวคือผงยาบวมหรือการเกิดก๊าซทำให้เกิดแรงดัน แสดงว่าปฏิกิริยาการเกิดฟองฟู่เกิดขึ้นแล้วก่อนจ่ายยา
        เภสัชภัณฑ์ในรูปแบบของเหลว  สิ่งสำคัญสำหรับเภสัชภัณฑ์ในรูปแบบของเหลวคือความสม่ำเสมอของยาและความปราศจากการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ อาจสังเกตความไม่คงตัวจากสารละลายขุ่นหรือตกตะกอน อิมัลชันแยก ยาน้ำแขวนตะกอนไม่สามารถแขวนลอยได้หลังจากเขย่าขวด หรือมีการเปลี่ยนแปลงของกลิ่นและรส  การเจริญของเชื้ออาจเกิดร่วมกับการเปลี่ยนสี การขุ่น หรือการเกิดก๊าซ
        Solutions, Elixirs, และ Syrups ลักษณะที่แสดงถึงความไม่คงตัวหลักๆมี 2 อย่าง คือ การขุ่น และการเจริญของเชื้อหรือการเกิดก๊าซจากปฏิกิริยาเคมี
        ยาน้ำใสที่คงตัวต้องคงความใส สี และกลิ่นเหมือนตอนเริ่มผลิต ตลอดอายุของยา  โดยเฉพาะความใสของตำรับจะเป็นจุดหลักในการทดสอบด้านความคงตัวทางกายภาพของยาน้ำใส
        Emulsions อิมัลชันที่คงตัวต้องมีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอเหมือนตอนเริ่มผลิตด้วยแรงเขย่าปานกลางและสามารถเทออกจากขวดได้ตลอดอายุของยา
        ลักษณะที่ไม่คงตัวของอิมัลชันสังเกตได้จากการแยกชั้นของผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามอิมัลชันยังมีความคงตัวแม้เกิด creaming คือเนื้ออิมัลชันสามารถเข้ากันได้เมื่อเขย่า
        การเก็บอิมัลชันที่ไม่ได้ผ่านการทดสอบการเก็บในตู้เย็น อาจทำให้สารทำอิมัลชันที่เป็นพวกน้ำมันมีค่าการละลายในระบบลดลงและเกิดการตกตะกอน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ตำรับไม่คงตัวได้
        Suspensions   ยาน้ำแขวนตะกอนที่คงตัวต้องมีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอเมื่อเขย่าด้วยแรงปานกลาง และสามารถเทออกจากขวดได้ง่ายตลอดอายุของยา โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงการกระจายของขนาดอนุภาคยา (particle size distribution)  รูปผลึกยา หรือปริมาณยาที่ผู้ป่วยควรได้รับจากขนาดการให้ยาเท่าเดิม
        ลักษณะหลักที่แสดงถึงความไม่คงตัวของยาน้ำแขวนตะกอนคือการเกิด caking ซึ่งเป็นลักษณะที่ผงยาไม่สามารถกลับแขวนลอยได้อีกด้วยแรงเขย่าปานกลาง  ผงยาที่มีขนาดโตขึ้นหลังจากเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ระยะเวลาหนึ่งอาจมีสาเหตุมาจากผลึกยามีขนาดใหญ่ขึ้นและแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเช่นกัน
        Tinctures และ Fluidextracts  เภสัชภัณฑ์รูปแบบเหล่านี้หรือที่มีลักษณะคล้ายๆกันมักมีสีเข้มขึ้นเนื่องจากยาเตรียมมีความเข้มข้นขึ้น ดังนั้นจึงควรตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามีการตกตะกอนหรือไม่
        Sterile Liquids   การคงสภาพปราศเชื้อเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับของเหลวที่ปราศจากเชื้อ  การปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในของเหลวปราศจากเชื้อมักสังเกตไม่ได้ด้วยตาเปล่า อาจตั้งสมมติฐานว่าผลิตภัณฑ์เกิดการปนเปื้อนด้วยเชื้อจากลักษณะหมอกบางๆ การขุ่น การเปลี่ยนสี การเกิดฟิล์มที่ผิวหน้า การเกาะกันของผงยา หรือการเกิดก๊าซ  ลักษณะที่สำคัญที่สุดของสารละลายปราศจากเชื้อที่เป็นยาตาหรือยาฉีดคือความใส  ควรตั้งข้อสงสัยถ้าสังเกตเห็นการผนึกผลิตภัณฑ์ที่ไม่สมบูรณ์
        เภสัชภัณฑ์กึ่งแข็งกึ่งเหลว  ลักษณะที่แสดงถึงความไม่คงตัวหลักของครีม ยาขี้ผึ้ง และยาเหน็บ คือ สี กลิ่น หรือความหนืดที่เปลี่ยนไป
        Creams  โดยทั่วไปครีมคืออิมัลชันที่ประกอบด้วยน้ำและน้ำมัน  สามารถสังเกตความไม่คงตัวของครีมได้จากการแยกของอิมัลชัน การโตของผลึก การหดตัวของเนื้อครีมเนื่องจากการระเหยของน้ำ และการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์
        Ointments  ยาขี้ผึ้งที่คงตัวต้องมีการกระจายตัวของยาอย่างสม่ำเสมอตลอดอายุของยา  ปัญหาความไม่คงตัวหลักของยาขี้ผึ้งคือ การแยกของของเหลวออกมาเยิ้มที่ผิวหน้าของยาเตรียม (bleeding) และมีความข้นหนืด (consistency) เปลี่ยนไป การเกิดเม็ดหยาบๆ ในยาขี้ผึ้งก็เป็นปัญหาความไม่คงตัวทางกายภาพของยาขี้ผึ้งเช่นกัน
        Suppositories  ลักษณะหลักที่บ่งบอกความไม่คงตัวของยาเหน็บคือยาเหน็บที่อ่อนนุ่มเกินไป   ยาเหน็บบางชนิดอาจแห้งและแข็ง หรือเหี่ยวแห้ง  ควรตรวจสอบยาเหน็บแต่ละแท่งอย่างใกล้ชิดถ้าสังเกตเห็นรอยน้ำมันที่กล่องโดยการเปิดฟอยล์ที่หุ้มอยู่ถ้าจำเป็น  ยาเหน็บโดยทั่วไปควรเก็บในตู้เย็น แม้อาจมีข้อยกเว้นในบางกรณี
­2) การดูวันหมดอายุ หรือคาดการจากวันที่ผลิต
        ฉลากของยาสามัญและอาหารเสริมควรบอกวันหมดอายุ ที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย และควรแสดงวันหมดอายุอย่างเด่นชัด เช่นใช้สีที่ต่างจากสีพื้น หรือใช้สีเข้มเน้น
        กรณีที่อาจยกเว้นการแสดงวันหมดอายุของยาและอาหารเสริม คือ เภสัชภัณฑ์หรืออาหารเสริมนั้นบรรจุในภาชนะสำหรับขายโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ ฉลากของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ระบุข้อจำกัดของขนาดรับประทาน และผลิตภัณฑ์นั้นมีความคงตัวไม่น้อยกว่า 3 ปีถ้าเก็บภายใต้สภาวะที่กำหนด
        วันหมดอายุของยา (expiration date) บอกช่วงเวลาที่คาดว่ายาคงสภาพตามที่กำหนดไว้ในเภสัชตำรับถ้าเก็บภายใต้สภาวะที่กำหนด  ดังนั้นวันหมดอายุของยาจึงกำหนดช่วงเวลาในการจ่ายหรือใช้ยา  ถ้าวันหมดอายุของยาระบุไว้ในรูปเดือน/ปีหมายถึงวันสุดท้ายของเดือนที่กำหนด  วันหมดอายุที่กำหนดโดยบริษัทผู้ผลิตนี้ไม่สามารถนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ที่แบ่งบรรจุในภาชนะบรรจุที่แตกต่างไปจากเดิม

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ยารักษาโรคต้อหิน

ยารักษาโรคต้อหิน

ส่วนใหญ่จะเป็นยาหยอดตาโดยอาจใช้ร่วมกับยาเม็ดรับประทาน โดยยาหยอดตาเพื่อลดความดันในลูกตามีมากมายหลายกลุ่ม  แต่ผลที่ต้องการโดยรวมคือ ลดปริมาณของของเหลวในลูกตา หรือเพิ่มการไหลออกของของเหลวในลูกตา ในผู้ป่วยบางรายแพทย์จะสั่งยาพร้อมกันหลายรายการ ผู้ป่วยที่ได้รับยาควรทราบเกี่ยวกับผลจากการใช้ยา และอาการข้างเคียงที่จะได้รับ หากผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงที่เกิดจากยามาก ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาได้ทราบ เพื่อที่จะได้เลือกใช้ยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย        

กลุ่มของยาหยอดตารักษาโรคต้อหิน

แอลฟ่า อดริเนอจิก อโกนิส  
  • ออกฤทธิ์ทั้งลดการสร้างของของเหลวในลูกตา และเพิ่มการไหลออกของของเหลว 
  • ผลข้างเคียง    ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ ตามัว เมื่อยล้า ปากแห้ง ตาแดง
  • ตัวอย่างยา เช่น Brimonidine (Alphagan , Brimonidine)
เบต้า บล็อคเกอร์
  • ออกฤทธิ์โดยลดการสร้างของของเหลวในลูกตา และลดอัตราการไหลของของเหลวที่เข้าไปในลูกตา
  • ผลข้างเคียง  หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจโต ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึมเศร้า เสื่่อมสมรรถภาพทางเพศ เห็นภาพซ้อน มีปัญหาด้านการหายใจในผู้ป่วยหอบหืดและถุงลมโป่งพอง
  • ตัวอย่างยา เช่น Timolol (Timolol , Glauco-oph) Betataxol (Betoptic-s)
คาร์บอนิก แอนไฮเดรส อิฮิบิเตอร์ 
  • มีทั้งที่เป็นยาหยอดตา และยาเม็ดรับประทาน ออกฤทธิ์ลดการสร้างของเหลวในลูกตา
  • ผลข้างเคียง  ผื่นแดง ตาแดง ระคายเคืองตา มองเห็นภาพเบลอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ นิ่วในไต   ท้องไส้ปั่นป่วน การรับรสเปลี่ยนไป น้ำหนักลด
  • ตัวอย่างยา เช่น Dorzolamide (Trusopt), Brizolamide (Azopt), ยาเม็ด Acetazolamide (Diamox)
ยาหดรูม่านตา
  • การหดรูม่านตาจะทำให้ช่วยเพิ่มการไหลออกของของเหลวในลูกตา
  • ผลข้างเคียง ตาแดง ปวดศีรษะ ตาเบลอ ฝ้า มีน้ำลายมาก เหงื่อออกมาก  คลื่นไส้ อาเจียน      ท้องเสีย ปอดบวมน้ำ หัวใจเต้นช้า
  • ตัวอย่างยา เช่น Pilocarpine (Isopto-Carpine)
พลอสตาแกรนดิน อนาล็อค
  • ลดความดันลูกตาโดย เพิ่มการไหลออกของของเหลวในลูกตา
  • ผลข้างเคียง ตาเบลอ ตาแดง ระคายเคืองตา ม่านตาเปลี่ยนสี (ส่วนใหญ่เกิดในคนที่มีตาสีน้ำตาลหรือสีเขียว) ขนตายาวและหนาขึ้น ปวดข้อ อาการเหมือนเป็นไข้
  • ตัวอย่างยา เช่น Latanoprost (Xalatan) , Bimatoprost (Lumigan) , Travoprost (Travatan)
ยาสูตรผสม 
  • คือ ยาหยอดตาที่รวมยาไว้ในขวดเดียวกัน เพิ่อเพิ่มผลการลดความดันลูกตา เพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย  แต่อาการข้างเคียงก็เพิ่มขึ้นด้วย
  • ตัวอย่างยา เช่น Dorzolamide and Timolol (Cosopt) , Latanoprost and Timolol (Xalacom) , Brimonidine and Timolol (Combigan)

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

ขั้นตอนการรับบริการจ่ายยา

ห้องจ่ายยาของ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ เปิดให้บริการ 2 แห่ง คือ
  1. ห้องจ่ายยาใหญ่ อยู่อาคารบริการชั้น 1 บริเวณด้านหน้า (หลังห้องบัตร) เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยให้บริการจ่ายยาผู้ป่วยนอกทั้งหมด และผู้ป่วยใน
  2. ห้องจ่ายยาจักษุ (เคาเตอร์ 25) อยู่อาคารบริการชั้น 1 ภายใน คลินิกตา ให้บริการตั้งแต่ 9.00-13.00น.(จ-ศ) และตามคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ ให้บริการจ่ายยาตาแก่ผู้ป่วยนอกเป็นขั้นตอนเดียวโดยเมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์เรียบร้อยแล้วให้ถือแฟ้มประวัติมายัง      เคาเตอร์ 24 เพื่อออกใบนัดและสรุปประวัติ หลังจากนั้นท่านสามารถรอรับยาได้ที่เคาเตอร์ 25 ที่ติดกันได้ทันที (ยกเว้นยาที่ห้องจ่ายยาจักษุไม่มี ผู้ป่วยจะต้องมารับยาเพิ่มที่ห้องยาใหญ่)
ขั้นตอนการรับบริการจ่ายยาผู้ป่วยนอกมีดังนี้
  1. นำใบสั่งยา ยื่นที่ห้องจ่ายยาใหญ่ ช่องหมายเลข 5 พร้อมแจ้งสิทธิ์การรักษา หรือใบตรวจสอบสิทธิ์การรักษา เช่นผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทอง บัตรผู้พิการ ประกันสังคม ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น
  2. เมื่อเจ้าหน้าที่ห้องยารับใบสั่งยามาเรียบร้อยแล้ว จะทำการตรวจสอบ คิดราคา พิมพ์ฉลากยา แล้วส่งรายการค่าใช้จ่ายไปยัง การเงิน (ช่อง 7 8 9)
  3. ผู้ป่วยที่ต้องชำระเงินรอเจ้าหน้าที่การเงินเรียกชื่อ ผู้ป่วยสิทธิ์จ่ายตรงกรมบัญชีกลางให้ยื่นบัตรโรงพยาบาลแสดงสิทธิ์ได้ที่การเงิน
  4. เมื่อยาของท่านจัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ห้องจ่ายยาจะทำการเรียกชื่อเพื่อรับยาในช่องหมายเลข 3 และ 4  ให้ท่าน นำใบเสร็จรับเงิน หรือใบแสดงสิทธิ์จ่ายตรงกรมบัญชีกลาง มายื่นเพื่อรับยา ส่วนสิทธิ์ที่ไม่ต้องจ่ายเงิน ท่านสามารถรอเรียกชื่อรับยาได้ทันที
  5. เมื่อผู้ป่วยหรือญาติมารับยา กรุณาแจ้ง ชื่อ-นามสกุล  การแพ้ยา การตั้งครรภ์ให้นมบุตร แก่เภสัชกรทุกครั้ง

Lid clean pad