วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วิธีสังเกตยาหมดอายุ


เราควรทราบวิธีสังเกตยาที่มีอยู่ว่ายังสามารถใช้ได้หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา เพราะหากยาที่ใช้หมดอายุหรือเสื่อมคุณภาพแล้ว นอกจากจะไม่มีผลในการรักษายังอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ซึ่งมีวิธีการสังเกตง่ายๆ ดังนี้
            วันหมดอายุ เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้หลายแบบ เช่น Exp.date, Expiring, Use by หรือ Use before ตัวอย่างเช่น Exp.date 20/02/05 หมายความว่ายาจะหมดอายุในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2005  แต่หากบนฉลากไม่ได้กำหนดวันที่วันหมดอายุ ก็ให้หมายถึงวันสุดท้ายของเดือนนั้นๆ เช่น Exp.date 03/05 หมายความว่ายาจะหมดอายุในวันที่ 31 มีนาคม 2005 แต่ในบางครั้งจะระบุ ปีอยู่ด้านหน้าเดือน สังเกตได้ว่าวันที่ผลิตตัวสุดท้ายจะเป็นวันเดียวกัน ในกรณีที่ยาไม่ได้กำหนดวันหมดอายุ อาจสังเกตได้จากวันที่ผลิต (Manufacturing date หรือ Mfg.date) ซึ่งโดยทั่วไป หากยานั้นผลิตมาเกิน 5 ปี ก็ไม่ควรนำมาใช้
            ทั้งนี้ยาแต่ละชนิดจะมีอายุไม่เท่ากัน และการเก็บรักษาก็มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลกระทบ เช่น แสง ความร้อน ในบริเวณที่เก็บ ทำให้บางครั้งยาที่ยังไม่ถึงวันหมดอายุ แต่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพไปแล้ว ก็ไม่ควรนำยานั้นมาใช้
การสังเกตลักษณะทางกายภาพของยา สามารถทำได้ง่ายๆ ยาที่เสื่อมคุณภาพแล้ว จะมีลักษณะดังนี้

§       ยาเม็ด มีลักษณะแตกกร่อน กะเทาะ เปลี่ยนสี หรือสีซีด
§       ยาเม็ดเคลือบ มีลักษณะเยิ้มเหนียว
§       ยาแคปซูล มีลักษณะบวม โป่งพอง ผงยาภายในจะจับกันเป็นก้อน เปลี่ยนสี หรืออาจมีเชื้อราขึ้นบนเปลือกแคปซูล
§       ยาน้ำเชื่อม มีลักษณะขุ่น มีตะกอน เปลี่ยนสี มีกลิ่นบูดหรือเหม็นเปรี้ยว
§       ยาน้ำแขวนตะกอน มีลักษณะตะกอนจับตัวเป็นก้อนแข็ง เขย่าแรงๆ จะไม่กระจาย
§      ยาน้ำอิมัลชัน มีลักษณะเขย่าแล้วไม่รวมตัวเป็นเนื้อเดียวกัน
§      ยาครีม มีลักษณะแยกชั้น ไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อครีมเปลี่ยนสี
§     ยาหยอดตา เปลี่ยนจากน้ำใสๆ เป็นน้ำขุ่น หรือหยอดตาแล้วมีอาการแสบตามากกว่าปกติโดยทั่วไปยาหยอดตาจะมีอายุเพียง 1 เดือน นับจากวันที่เปิดใช้ครั้งแรก
§     ยาฉีด แต่ละชนิดจะเสื่อมคุณภาพไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความคงตัวของยาแต่ละชนิด

 
 
 

Lid clean pad