วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิธีการใช้ยาหยอดตาแบบกระเปาะ


ยาหยอดตาแบบกระเปาะ เป็นยาหยอดตาในรูปแบบปราศจากสารกันเสีย ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้หรือระคายเคืองได้ จึงมีการผลิตยาในรูปแบบที่สามารถใช้ได้หมดในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งปริมาตรของยาหยอดตาในแต่ละยี่ห้อไม่เท่ากัน โดยในหนึ่งหลอดอาจหยอดตาได้ตั้งแต่ 2 หยด จนถึง 6 หยด

วิธีการใช้

·      ล้างมือให้สะอาด

·      หยิบแผงหลอดยาออกมาจากกล่องแล้วฉีกหลอดยาออกมาเพียงหนึ่งหลอด

·      บิดบริเวณปลายหลอดให้ขาดจากกัน อย่าเพิ่งทิ้งจุกพลาสติก

·      บีบยาออกจากหลอดยาตามวิธีที่ถูกต้อง อย่าให้ปลายหลอดสัมผัสลูกตา ขนตา ปลายนิ้ว

·      หยดยาออกมาเพียง 1 หยด ไม่ต้องบีบทีเดียวทั้งหมด

·      นำจุกพลาสติกปิดหลอดยาที่เหลือ

·      ยาส่วนที่เหลือในหลอดสามารถเก็บไว้ใช้ได้อีกภายในหนึ่งวัน โดยไม่จำเป็นต้องเก็บในตู้เย็น (การเก็บยาในตู้เย็นไม่ได้ทำให้เก็บยาได้นานขึ้น) หากไม่พอสามารถเปิดหลอดใหม่ใช้ได้อีก

วิธีการใช้ยาป้ายตา


ยาป้ายตา

ข้อแนะนำวิธีการใช้

-  ล้างมือให้สะอาด

-  เปิดจุกหลอดยาไว้  โดยวางให้ฝาหลอดหงายขึ้น

-  นอน  หรือ  นั่งเงยหน้าขึ้น

-  ค่อยๆ  ใช้มือข้างหนึ่งดึงหนังตาล่างลงมาให้เป็นกระพุ้ง  และเหลือบตาขึ้นข้างบน

-  ให้ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับหลอดขี้ผึ้งป้ายตา  และบีบขี้ผึ้งขนาดยาวประมาณ  1  เซนติเมตร  หรือประมาณ  1/2  นิ้ว  ลงในด้านในของเปลือกตาล่าง

            ระวัง !  อย่าให้ปลายหลอดขี้ผึ้งถูกตาหรือสิ่งใดๆ

-  ปล่อยมือจากการดึงหนังตา

-  ค่อยๆ  ปิดตาและกลอกลูกตาไปมาทุกทิศทางขณะที่ยังปิดตาอยู่สักครู่

-  ปิดฝาจุกหลอดยาให้สนิท

-  ถ้าต้องใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตา  2  ชนิดขึ้นไปควรเว้นระยะห่างในการป้ายยาแต่ละชนิดประมาณ  10  นาที  ถ้ายาอีกชนิดเป็นยาหยอดตาให้หยอดยาก่อนและรอประมาณ  10  นาที  จึงใช้ขี้ผึ้งป้ายตา

ข้อแนะนำอื่นๆ

-  ห้ามใช้ยาป้ายตาร่วมกับผู้อื่น  เพราะอาจทำให้ติดโรคได้

-  อาจทำให้ตาพร่า  แสบตา  หรือเคืองตาหลังจากป้ายตาได้  ดังนั้นไม่ควรขับรถหรือต้องทำงานที่เสี่ยงต่ออันตราย  จนกว่าตาจะมองเห็นได้ชัดเจนตามปกติ

-  ห้ามล้างปลายหลอดขี้ผึ้งป้ายตา

-  ถ้าลืมป้ายตาให้ป้ายตาทันที่ที่นึกขึ้นได้  แต่ถ้าจวนจะถึงเวลาที่จะป้ายตาครั้งต่อไปให้รอป้ายตาครั้งต่อไปได้เลย

วิธีการใช้ยาหยอดตา


ยาหยอดตา

            ยาหยอดตามีทั้งชนิดที่เป็นน้ำใสและเป็นน้ำแขวนตะกอน  การใช้ยาหยอดตาที่เป็นยาฆ่าเชื้อตามทฤษฎีแล้วต้องใช้ยาให้หมดตามที่แพทย์สั่ง  โดยเฉลี่ยยาหยอดตา  1  หยด  มีปริมาตร  50  ไมโครลิตร  (ทั้งนี้ขึ้นกับความหนืดและขนาดของหลอดยาด้วย)

วิธีการใช้

-  ล้างมือให้สะอาด

-  เปิดเกลียวจุกของขวดยาไว้  แต่ยังไม่ต้องเอาหลอดหยดออกจากขวด

-  นอนหรือเงยหน้าขึ้น

-  ให้ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับหลอดหยดและดูดยาให้เข้าไปในหลอด  (เฉพาะยาที่มีหลอดหยดซึ่งเอาออกจากตัวขวดได้)

-  ค่อยๆใช้มือข้างหนึ่งดึงหนังตาลงมาให้เป็นกระพุ้ง  และเหลือบตาขึ้นข้างบน

-  หยอดยาตามจำนวนที่แพทย์สั่งลงในด้านในของเปลือกตาล่าง

            ระวัง !  อย่าให้ปลายหลอดหยดถูกตา  มือ  หรือสิ่งใดๆ

-  ปล่อยมือจากการดึงหนังตา  และอย่ากระพริบตาสักครู่ (อย่างน้อย 30 วินาที)

-  เอาหลอดหยดใส่ขวดและปิดฝาให้สนิท

-  ถ้าต้องการใช้ยาหยอดตา  2  ชนิดขึ้นไป  ควรเว้นระยะห่างในการหยอดยาแต่ละชนิดประมาณ  5-10  นาที  จึงหยอดยาชนิดต่อไป  ถ้ายาอีกชนิดเป็นยาขี้ผึ้งป้ายตา  ให้หยอดยาก่อนและรอประมาณ  10  นาที  จึงใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตา

ข้อแนะนำอื่นๆ

-  ห้ามใช้ยาหยอดตาร่วมกับผู้อื่น  เพราะอาจทำให้ติดโรคได้

-  อาจทำให้ตาพร่า  แสบตา  หรือเคืองตาหลังจากหยอดตาได้  ดังนั้นไม่ควรขับรถหรือต้องทำงานที่เสี่ยงต่ออันตราย  จนกว่าตาจะมองเห็นได้ชัดเจนตามปกติ

-  ห้ามล้างหลอดหยด

-  ถ้าลืมหยอดตา ให้หยอดตาทันที่นึกขึ้นได้  แต่ถ้าจวนจะถึงเวลาที่จะหยอดตาครั้งต่อไปให้รอหยอดตาครั้งต่อไปได้เลย

-  ถ้ายาหยอดตาเป็นชนิดยาน้ำแขวนตะกอน  จะต้องเขย่าขวดก่อนใช้

-  ยาหยอดตาขวดที่เปิดใช้แล้ว  ห้ามใช้เกิน  1  เดือน  ถ้ามียาเหลือควรทิ้งไป

-  ยาหยอดตาบางชนิดควรเก็บในตู้เย็น  ฉะนั้นต้องอ่านฉลากให้เข้าใจ

-  ยาหยอดตาบางชนิด  จะทำให้รู้สึกขมได้  เพราะตาและปากมีทางติดต่อถึงกันได้  อาจกดหัวตาเบา ๆ

-  ผู้ใช้เลนซ์สัมผัส ควรถอดออกก่อนหยอดตา

วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ยาหยอดตารักษาโรคต้อหิน

 ยารักษาโรคต้อหิน

ส่วนใหญ่จะเป็นยาหยอดตาโดยอาจใช้ร่วมกับยาเม็ดรับประทาน โดยยาหยอดตาเพื่อลดความดันในลูกตามีมากมายหลายกลุ่ม  แต่ผลที่ต้องการโดยรวมคือ ลดปริมาณของของเหลวในลูกตา หรือเพิ่มการไหลออกของของเหลวในลูกตา ในผู้ป่วยบางรายแพทย์จะสั่งยาพร้อมกันหลายรายการ ผู้ป่วยที่ได้รับยาควรทราบเกี่ยวกับผลจากการใช้ยา และอาการข้างเคียงที่จะได้รับ หากผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงที่เกิดจากยามาก ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาได้ทราบ เพื่อที่จะได้เลือกใช้ยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย        

กลุ่มของยาหยอดตารักษาโรคต้อหิน

แอลฟ่า อดริเนอจิก อโกนิส  
  • ออกฤทธิ์ทั้งลดการสร้างของของเหลวในลูกตา และเพิ่มการไหลออกของของเหลว 
  • ผลข้างเคียง    ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ ตามัว เมื่อยล้า ปากแห้ง ตาแดง
  • ตัวอย่างยา เช่น Brimonidine (Alphagan , Brimonidine)
เบต้า บล็อคเกอร์
  • ออกฤทธิ์โดยลดการสร้างของของเหลวในลูกตา และลดอัตราการไหลของของเหลวที่เข้าไปในลูกตา
  • ผลข้างเคียง  หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจโต ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึมเศร้า เสื่่อมสมรรถภาพทางเพศ เห็นภาพซ้อน มีปัญหาด้านการหายใจในผู้ป่วยหอบหืดและถุงลมโป่งพอง
  • ตัวอย่างยา เช่น Timolol (Timolol , Glauco-oph) Betataxol (Betoptic-s)
คาร์บอนิก แอนไฮเดรส อิฮิบิเตอร์ 
  • มีทั้งที่เป็นยาหยอดตา และยาเม็ดรับประทาน ออกฤทธิ์ลดการสร้างของเหลวในลูกตา
  • ผลข้างเคียง  ผื่นแดง ตาแดง ระคายเคืองตา มองเห็นภาพเบลอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ นิ่วในไต   ท้องไส้ปั่นป่วน การรับรสเปลี่ยนไป น้ำหนักลด
  • ตัวอย่างยา เช่น Dorzolamide (Trusopt), Brizolamide (Azopt), ยาเม็ด Acetazolamide (Diamox)
ยาหดรูม่านตา
  • การหดรูม่านตาจะทำให้ช่วยเพิ่มการไหลออกของของเหลวในลูกตา
  • ผลข้างเคียง ตาแดง ปวดศีรษะ ตาเบลอ ฝ้า มีน้ำลายมาก เหงื่อออกมาก  คลื่นไส้ อาเจียน      ท้องเสีย ปอดบวมน้ำ หัวใจเต้นช้า
  • ตัวอย่างยา เช่น Pilocarpine (Isopto-Carpine)
พลอสตาแกรนดิน อนาล็อค
  • ลดความดันลูกตาโดย เพิ่มการไหลออกของของเหลวในลูกตา
  • ผลข้างเคียง ตาเบลอ ตาแดง ระคายเคืองตา ม่านตาเปลี่ยนสี (ส่วนใหญ่เกิดในคนที่มีตาสีน้ำตาลหรือสีเขียว) ขนตายาวและหนาขึ้น ปวดข้อ อาการเหมือนเป็นไข้
  • ตัวอย่างยา เช่น Latanoprost (Xalatan) , Bimatoprost (Lumigan) , Travoprost (Travatan)
ยาสูตรผสม 
  • คือ ยาหยอดตาที่รวมยาไว้ในขวดเดียวกัน เพิ่อเพิ่มผลการลดความดันลูกตา เพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย  แต่อาการข้างเคียงก็เพิ่มขึ้นด้วย
  • ตัวอย่างยา เช่น Dorzolamide and Timolol (Cosopt) , Latanoprost and Timolol (Xalacom) , Brimonidine and Timolol (Combigan)


Lid clean pad